วันอาทิตย์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ไทยรัฐทีวี เผยแพร่สารคดี " วัดเขาทำเทียม " ฤๅวัดแรกในไทย



  คุณสุภาณี คชพันธ์สมโภชน์   พิธีกร ดำเนินรายการไทยรัฐทีวี   พาท่านไปชม สารคดีชุดพิเศษ ตามรอยวัดไทยแห่งแรก  ที่ วัดเขาทำเทียม อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี  พระเดชพระคุณพระเทพสุวรรณโมลี ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดสุพรรณบุรี องค์ประธานจัดสร้างพระแกะสลักหน้าผา ใหญ่ที่สุดในโลก เพื่อเป็นมรดก คู่ฟ้าดิน  พระมหาพิชัย  ธมฺมวิชโย  เจ้าอาวาสวัดเขาทำเทียม ร่วมตามรอย ..





วันที่  20 กรกฎาคม  2557 ที่วัดเขาทำเทียม อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี  ทีมงาน ไทยรัฐทีวี นำโดย   คุณสุภาณี คชพันธ์สมโภชน์   พิธีกร ผู้ดำเนินรายการฯ นำคณะกองถ่ายเดินทางสู่ดินแดน ประวัติศาสตร์ " ปุษยคิรี " เพื่อนำชมหลักฐานสำคัญ ที่ระบุว่า  วัดไทยแห่งนี้ได้รับการสัญนิษฐานว่า เป็นวัดแห่งแรก ของประเทศไทย  โดยมี ท่านเจ้าอาวาส พระมหาพิชัย  ธมฺมวิชโย  และ พระเดชพระคุณพระเทพสุวรรณโมลี ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดสุพรรณบุรี องค์ประธานจัดสร้างพระแกะสลักหน้าผา ใหญ่ที่สุดในโลก เพื่อเป็นมรดก คู่ฟ้าดิน  ร่วมตามรอย



 วัดเขาทำเทียม ตั้งอยู่ที่ ตำบลอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นวัดเก่าแก่มาแต่โบราณ สันนิษฐานว่าจะเป็นวัดแห่งแรกในประเทศไทย หลังจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพานได้ 300 ปี พระโมคคัลลีบุตรติสสะเถระ ได้ทำการสังคยนา ครั้งที่ 3 โดยมีพระเจ้าอโศกมหาราช เป็นองค์อุปถัมภ์ ณ เมืองปาฏลีบุตร และได้ส่งสมณฑูตพระอรหันต์ปัญจวคคีย์ ได้แก่ พระสณะ พระมุนียเถระ พระฌานีเถระ พระภูริยเถระและพระอุตตรเถระ ออกเผยแพร่พระพุทธศาสนายังเมืองสุวรรณภูมิ และได้จารึกภาษาสันสกฤตโบราณไว้ว่า ปุษยคิริ หรือ ปุษยคีรี แปลว่า ภูเขา ดอกไม้ เนื่องจากบนภูเขามีดอกไม้ที่สวยงาม ประกอบด้วย ดอกสุพรรณิกา (สมอฝ้าย) ดอกงิ้วป่าสามสี



                 เป็นที่น่าอัศจรรย์ ที่ชื่อ ปุษยคิริ ไปพ้องกันกับภูเขาปุษยคีรีสังฆาราม ในเมืองสาญจี รัฐโอริสสาวัดเขาทำเทียม มีชื่อเรียกหลายชื่อ วัดเขาธรรมเธียร วัดเขาคำเทียม วัดเขาถ้ำเทียมสวรรค์ วัดเขาทำเทียม ชื่อเขาธรรมเธียร แปลว่า ที่อยู่ของนักปราชญ์ผู้ฉลาดในธรรม และเขาคำเทียม ปรากฏในหนังสือรายงานตรวจราชการ ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเสนาบดี กระทรวงมหาดไทย วันที่ 25 กุมภาพันธ์ ร.ศ.122 (พ.ศ.2446)





                 อยู่ด้านทิศตะวันตกของเมืองอู่ทอง เขาถ้ำเทียมสวรรค์ หมายถึง เพิงผาหน้าถ้ำของวัดอยู่บนที่สูง ก็เลยได้ชื่อว่าถ้ำเทียมสวรรค์ และชื่อว่าวัดเขาทำเทียมนั้น น่าจะหมายถึง วัดที่สร้างขึ้นคู่กับวัดเขาพระ คำว่า เทียม หมายถึง คู่กัน จึงมักมีคนพูดว่า วัดเมียหลวง เมียน้อย ได้ขออนุญาตสร้างวัดพร้อมกันกับวัดเขาพระ เมื่อปีพุทธศักราช 2460 และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปีพุทธศักราช 2471 เนื่องจากวัดเขาทำเทียม ชุมชนไม่หนาแน่น การพัฒนาเกี่ยวกับศาสนวัตถุ ค่อนข้างลำบาก ล่าช้า ศาสนวัตถุ ที่อยู่ในบริเวณวัด ประกอบด้วยพระอุโบสถเก่า สร้างในสมัยต้นๆกรุงศรีอยุธยา และเจดีย์หมายเลข 12 ฐานเจดีย์สร้างในสมัยอยุธยา พระพุทธรูปเก่าๆ ที่พบที่วัดเขาทำเทียมนั้น ปัจจุบันนำไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ และเสมาธรรมจักร ที่สมบูรณ์ที่สุด สวยงามที่สุด ขุดค้นพบในในปี พ.ศ.2519 โดยนายธนิต อยู่โพธิ์ อธิบดีกรมศิลปากรในสมัยนั้น





      ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ได้จัดแสดงจารึก 1 ชิ้น ขนาดกว้าง 18 เซนติเมตร ยาว 33.3 เซนติเมตร และหนา 7 เซนติเมตร อักษรหลังปัลลวะ หรือบางท่านเรียกว่าแบบปัลลวะกลาย อายุราวพุทธศตวรรษที่ 13-14
จารึกแผ่นนี้มีผู้อ่าน(ปริวรรต)แล้ว คือ “ปุษฺยคิริ” แปลว่า ปุษยคิริ หรือเขาปุษยะ




ปุษยคิริ เท่ากับ ปุษปคิริ  สัมพันธ์กับชมพูทวีป

จากพจนานุกรมภาษาสันสกฤต ได้ให้ความหมายของศัพท์คำ “ปุษฺย” ว่าหมายถึง ดอกไม้ มีความเกี่ยวข้องกับพระจันทร์และเป็นชื่อยุคสมัยหนึ่งในกลียุค
นอกจากนี้ยังปรากฏศัพท์คำว่า “ปุษฺปคิริ” หมายถึงเขาแห่งดอกไม้, เขาในเทว ปกรณัมอันเป็นสวนของพระวรุณ  ถ้าคำว่า “ปุษฺย” มีความหมายว่า ดอกไม้ ก็ชวนให้คิดต่อไปได้ว่า “ปุษฺยคิริ” มีความหมายเท่ากับ “ปุษฺปคิริ” จะได้หรือไม่




จากหลักฐานที่ค้นพบปรากฏว่าในชมพูทวีป มีภูเขาชื่อ ปุษปคิรี เป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ อยู่ 2 แห่งคือ

1.จากหลักฐานจารึกที่ขุดค้นพบที่โบราณสถานหมายเลข 2 บนเขานาหราฬ ฬโพฑุ ที่นาคารชุนโกณฑะ อานธรประเทศ จารึกเป็นภาษาปรากฤต เชื่อว่าจารึกหลักนี้มีความเกี่ยวข้องกับราชวงศ์อิกษวากุ ดังนั้นจึงกำหนดอายุอยู่ในราวกลางพุทธศตวรรษที่      8-กลางพุทธศตวรรษที่ 9  ในด้านทิศตะวันตก หลักที่ 3 บรรทัดที่ 7 ปรากฏชื่อที่เป็นทางการของเขาลูกนี้ว่า “ปุผคิรี[ยํ].” ซึ่งศาสตราจารย์โวเกิล ได้อธิบายว่าศัพท์คำนี้เป็นภาษาปรากฤตตรงกับคำว่า “ปุษฺปคิริ” ในภาษาสันสกฤต

2. ในบันทึกของหลวงจีนเหี้ยนจัง ได้กล่าวว่าที่แคว้นอุฑร หรือรัฐโอริสสาในภาคตะวันออกของประเทศอินเดียปัจจุบัน มีสังฆารามที่สำคัญชื่อว่า “ปุษปคีรี” ที่  พระเจ้าอโศกมหาราชทรงสถาปนา ซึ่งจากการหลักฐานที่ขุดพบเมื่อไม่นานมานี้ได้พบชิ้นส่วนจารึกที่ปรากฏพระนามพระเจ้าอโศก จึงทำให้สนับสนุนบันทึกของหลวงจีน     เหี้ยนจัง    ดังนั้นชื่อเขาปุษปคิริในชมพูทวีปก็คงจะเป็นมงคลนามที่มักจะใช้ไปตั้งเป็นภูมิสถาน และคงจะส่งอิทธิพลให้ที่เมืองอู่ทอง ดังจะพบเห็นได้โดยทั่วไปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพียงแต่ “ปุษยคิริ” ที่อู่ทองจะสัมพันธ์กับที่นาคารชุนโกณฑะหรือที่โอริสสา ยากที่จะตอบได้





จารึกปุษฺยคิริ พบที่เมืองอู่ทอง


ในทะเบียนโบราณวัตถุของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง เล่มที่ 1 หน้า 18 ระบุว่า จารึกแผ่นนี้เลขประจำวัตถุ 132/2502 พบที่เมืองอู่ทอง จ. สุพรรณบุรี เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2502
อีกทั้งในวิทยานิพนธ์เรื่อง จารึกทวารวดี : การศึกษาเชิงอักขร วิทยา เมื่อปี พ.ศ. 2515 ก็กล่าวพบที่เมืองอู่ทอง และจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง

หากแต่ข้อมูลในหนังสือ “จารึกในประเทศไทย เล่มที่ 1” พิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2528 กลับระบุว่ามาจากวัดโขลงสุวรรณภูมิทวาราม จ. ราชบุรี อีกทั้งยังระบุว่าไม่ทราบว่าพบเมื่อไหร่ และไม่ทราบเก็บรักษาอยู่ ณ ที่ใด ซึ่งขัดแย้งกับทะเบียนของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ  อู่ทอง และวิทยานิพนธ์เรื่อง จารึกทวารวดี : การศึกษาเชิงอักขรวิทยา อันเป็นการสะท้อนให้เห็นว่ามีการคลาดเคลื่อนบางประการ อีกทั้งที่เมืองคูบัว จ. ราชบุรี ก็ไม่ปรากฏวัดโขลงสุวรรณภูมิทวาราม

แต่ถ้าสมมติว่าทะเบียนจารึกจดวัดโขลงสุวรรณภูมิทวารามเพี้ยนจากวัดโขลงสุวรรณคิรีจริง จากในรายงานการขุดแต่งวัดโขลงสุวรรณคีรีของ ว่าที่ร้อยตรีสมศักดิ์ รัตนกุล เมื่อ ปี พ.ศ. 2504 ได้กล่าวถึงโบราณวัตถุที่ขุดค้นพบจากโบราณสถานวัดโขลงสุวรรณคีรี  แต่ไม่มีการกล่าวถึงจารึกจากแผ่นนี้แต่ประการใด ซึ่งเป็นเรื่องที่ชวนให้ฉงนว่าถ้าสมมติว่าพบจริง จารึกแผ่นใหญ่ขนาดนี้เหตุใดจึงไม่ระบุ
ดังนั้นผู้เขียนคิดว่าจารึกแผ่นนี้น่าที่จะพบอยู่ที่เมืองโบราณอู่ทอง


อนึ่งเมื่อพิจารณาจากลักษณะจารึกที่ไม่เป็นทรงเรขาคณิต ซึ่งไม่เคยพบจารึกในลักษณะเช่นนี้มาก่อน นอกเสียจากจารึกชิ้นชำรุดแตกหัก และพื้นผิวของจารึกที่ค่อนข้างมันวาว  จึงทำให้เชื่อได้ว่าแต่เดิมน่าที่จะเป็นจารึกในผนังถ้ำ หรือผนังเพิงผามาก่อน จึงทำให้ได้รับน้ำที่มีสารละลายของหินปูนและต่อมาได้มีการสกัดจากผนัง



ปุษยคิรี คือแนวเขาทำเทียม

เนื่องจากจารึกปุษยคิริพบที่เมืองอู่ทอง จึงทำให้เชื่อได้ว่าแต่เดิมในราวพุทธศตวรรษที่ 13-14 ที่เมืองโบราณอู่ทอง จะต้องมีภูเขาที่ชื่อว่า ปุษยคิรี ซึ่งผู้เขียนเสนอว่าควรที่จะเป็นแนวเขาหลังเมืองอู่ทอง แนวที่ปัจจุบันเรียกว่า “เขาทำเทียม” ทั้งนี้เพราะ

1. เป็นแนวเขาขนาดใหญ่ที่ใกล้เมืองอู่ทองมากที่สุด

2. เมื่อช่วงปี พ.ศ. 2507-2508 กรมศิลปากร และศาสตราจารย์ฌอง  บวสเซอลีเยร์ แห่งมหาวิทยาลัยปารีส ได้เข้ามาทำการขุดแต่งโบราณสถานในเมืองอู่ทอง การขุดแต่งครั้งนั้นได้ทำการขุดแต่งโบราณสถานหมายเลขที่ 9, 10, 11 และ 12 ที่ตั้งอยู่ที่เชิงเขาพระ ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มโบราณสถานขนาดใหญ่นอกเมืองอู่ทอง


จากการขุดแต่งในครั้งนั้นโดยเฉพาะโบราณสถานหมายเลขที่ 11 ได้ค้นพบโบราณวัตถุชิ้นสำคัญ คือพระพุทธรูปสำริดแสดงปางวิตรรกมุทรา จำนวน 4 องค์  และ ธรรมจักรพร้อมทั้งเสารองรับธรรมจักร ซึ่งโบราณวัตถุทั้งหมดนี้ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง

อีกทั้งภายในวัดเขาพระศรีสรรเพชญ์ซึ่งตั้งอยู่ที่เชิงเขาพระซึ่งเป็นแนวเดียวกันกับเขาทำเทียม ได้พบพระพุทธรูปแสดงปางปฐมเทศนา ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง และเทวรูปพระวิษณุขนาดใหญ่ ลักษณะของผ้านุ่ง ก็คล้ายกับเทวรูปพระวิษณุในศาลหลักเมืองสุพรรณบุรีและศาลหลักเมืองอู่ทอง ซึ่งเป็นเทวรูปในสมัยทวารวดี แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายตรงที่ว่าพระวิษณุที่วัดพระศรีสรรเพชญ์ องค์นี้ส่วนพระเศียรชำรุดได้มีการซ่อมขึ้นใหม่ในสมัยหลัง

จากการที่พบพระวิษณุองค์นี้ ทำให้เราพอที่คาดเดาว่าบริเวณเขาพระนี้ในอดีต ก็น่าที่จะมีศาสนสถานที่เกี่ยวเนื่องกับพระวิษณุด้วยเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ที่ปลายแนวเขาทำเทียม มีแหล่งโบราณคดีที่สำคัญ คือแหล่งโบราณคดีคอกช้างดิน ซึ่งนักโบราณคดีได้ขุดค้นพบมุขลึงค์ อันเป็นของพบน้อยมากในวัฒนธรรมทวารวดี กำหนดอายุอยู่ในราวกลางพุทธศตวรรษที่ 12-กลางพุทธศตวรรษที่ 13 และ เหรียญเงินมีจารึกอักษรปัลลวะ อ่านได้ว่า “ศฺรีทฺวารวติศฺวรปุณยะ”  อีกทั้งเมื่อไม่นานมานี้ก็มีการสำรวจพบแหล่งโบราณคดีบริเวณพุหางนาคบนเขารางกะปิดต่อเนื่องกับเขาทำเทียม ซึ่งแม้ว่าในปัจจุบัน(พ.ศ. 2555) ยังไม่สามารถหาข้อสรุปเกี่ยวกับยุคสมัยของแหล่งโบราณคดีนี้ก็ตาม





เขาทำเทียมมีความสำคัญ เพราะ


จากหลักฐานทั้งหมดที่ผู้เขียนได้กล่าวไปแล้วนั้น ก็ย่อมที่จะชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของเขาทำเทียมในอดีตด้วยเช่นเดียวกัน ส่วนสาเหตุที่แนวเขาทำเทียมมีความสำคัญเพราะ

ประการที่ 1 เนื่องจากในอดีตสมัยที่ยังไม่มีเข็มทิศใช้ การเดินทางย่อมเป็นลำบาก   เพราะจะเดินทางไปทิศทางใดเพื่อไม่ให้หลง ดังนั้นภูเขาที่เด่นสง่าก็ได้ถูกนำมาใช้เพื่อให้เป็นหลักหมาย (Landmark) เพื่อให้เดินทาง

ถ้าเราจินตนาการว่าถ้าท่านเป็นคนในอดีตแล้วต้องเดินทางมาเมืองอู่ทอง ท่านจะรู้ได้อย่างไรเมืองอู่ทองอยู่ทางไหน จะไปอย่างไร ถ้าเราไม่สังเกตจากเขาทำเทียมที่ตั้งอยู่หลังเมืองอู่ทอง
ประการที่ 2  ความเชื่อของผู้คนในอดีต ผีที่ศักดิ์สิทธิ์หรือผีผู้ใหญ่จะต้องอยู่ที่ภูเขา  เช่น พระขพุงผี ในศิลาจารึกหลักที่ 1 ก็อยู่ที่เขาหลวงเมืองสุโขทัย ผีนัต หรือผีอันศักดิ์สิทธิ์ของพม่าก็อยู่ที่เขาปอปป้า รวมถึงการบูชายันต์ที่เขาลิงเจียโปโป หรือลิงค บรรพตบริเวณวัดภูในปัจจุบัน

ดังนั้นแนวเขาทำเทียมก็น่าที่จะเป็นเขาศักดิ์สิทธิ์ของเมืองอู่ทอง และเนื่องจากโบราณวัตถุบางชิ้นที่พบใกล้แนวเขาทำเทียม เช่น ธรรมจักรและเสารองรับธรรมจักร และพระพุทธรูปแสดงปางปฐมเทศนา มีอายุที่อยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12-13 จึงอาจจะเป็นแนวเขาศักดิ์สิทธิ์มาตั้งแต่ยุดก่อนหน้านั้นขึ้นไป




แนวเขาทำเทียม สมัยหลังทวารวดี

จากหลักฐานที่หลงเหลือถึงปัจจุบัน แม้ว่าหลังปี พ.ศ. 1500 โดยประมาณ เมืองอู่ทองจะลดบทบาทความสำคัญลงไป แต่เขาทำเทียมก็น่าที่จะดำรงเป็นเขาศักดิ์สิทธิ์อยู่

ทั้งนี้เพราะบริเวณวัดเขาทำเทียม ปรากฏเจดีย์ทรงระฆังที่มีรูปแบบเหมือนกับเจดีย์รายในวัดพระศรีสรรเพชญ์พระนครศรีอยุธยา จึงพอที่จะกำหนดอายุเจดีย์องค์นี้ว่าอยู่ในช่วงครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 21
และในบริเวณเพิงผาที่ใกล้กันนั้นยังมีการก่อผนังลูกกรงลูกมะหวดเป็นห้อง รวมถึงพระพุทธรูปกลุ่มหนึ่งที่พบบนเขาลูกนี้ ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง ซึ่งอายุของพระพุทธรูปเหล่านี้สามารถกำหนดอยู่ในราวรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง

อนึ่งเราไม่สามารถที่ตอบได้ว่ากลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณเมืองอู่ทอง ได้ลืมเลือนว่าแนวเขาทำเทียม คือปุษยคิริไปเมื่อใด

เกรียงไกร  ก่อเกียรติตระกูล  U-Thong News   ข่าว   081-4359473

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น