เมืองโบราณอู่ทอง ตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจระเข้สามพัน ลักษณะเป็นรูปวงรีขนาด 1,850 x 820 เมตร มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ ทิศตะวันตกเป็นเทือกเขารางกะปิด เขาคำเทียม และเขาพระ ทิศตะวันออกเป็นที่ราบกักเก็บน้ำนอกเมืองมีแนวคันดินเป็นถนนโบราณ เรียกว่า ถนนท้าวอู่ทอง และแนวคันดินรูปเกือกม้า เรียกว่า คอกช้างดิน คงจะเป็นเพนียดคล้องช้างโบราณ หรือสระเก็บน้ำในศาสนาพราหมณ์ เมืองโบราณแห่งนี้มีร่องรอยการอยู่อาศัยของชุมชน มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย อายุราว 2500-2000 ปีมาแล้ว ได้พบ เครื่องมือหินขัด ภาชนะดินเผา แวปั่นด้ายดินเผา เป็นต้น ต่อมาได้พัฒนาตนเองสู่สังคมเมืองสมัยประวัติศาสตร์ ทำการติดต่อค้าขาย กับชาวต่างชาติ ในราวพุทธศตวรรษที่ 5-9 เช่น เวียดนาม จีน อินเดีย ตะวันออกกลาง และยุโรป มีบทบาทเป็นศูนย์กลางทางการค้า และเมืองท่าร่วมสมัยกับเมืองออกแก้ว ของประเทศเวียดนาม ได้พบลูกปัดแก้ว และเหรียญกษาปณ์ เหรียญโรมันสมัยจักรพรรดิวิคโตรินุส เป็นต้น ได้รับรูปแบบทางศาสนา ศิลปกรรมแบบอมราวดีจากอินเดีย ได้พบประติมากรรมดินเผารูปพระสงฆ์ 3 องค์อุ้มบาตร และพระพุทธรูปปูนปั้นนาคปรก ศิลปะแบบอมราวดี เป็นต้น ศาสตราจารย์ชอง บวสเซอริเยร์ เชื่อว่าเมืองอู่ทองน่าจะเป็นราชธานีแห่งอาณาจักรสุวรรณภูมิ ที่พระเจ้าอโศกมหาราช ได้ส่งพระสมณฑูตเข้ามาเผยแพร่พระพุทธศาสนา เมื่อ พ.ศ. 270-พ.ศ. 311 นายพอล วิทลีย์ เชื่อว่าเมืองจินหลิน ตั้งอยู่ที่เมืองอู่ทอง เป็นรัฐสุดท้ายที่พระเจ้าฟันมัน แห่งอาณาจักรฟูนันปราบได้ ในพุทธศตวรรษที่ 9 เมื่ออาณาจักรฟูนันล่มสลายลง ในปลายพุทธศตวรรษที่ 11 รัฐทวารวดีได้เจริญขึ้นมาแทนที่ ในรุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง และรุ่งเรืองสูงสุดในราวพุทธศตวรรษที่ 11-16 บันทึกของพระภิกษุเหี้ยนจัง ได้กล่าวถึงอาณาจักรโตโปตี้ หมายถึงทวารวดี ได้พบเหรียญเงินจารึกว่า “ศรีทวารวดี ศวรปุณยะ” ยืนยันการมีตัวตนของอาณาจักรทวารวดี มีเมืองอู่ทองเป็นเมืองหลวง และศูนย์กลางทางศาสนาพุทธ ศาสนาพราหมณ์ และวัฒนธรรมทวารวดี ประชาชนนับถือศาสนาพุทธลัทธิเถรวาทเป็นหลัก ใช้ภาษามอญ ยึดถือคติทางศาสนา รูปแบบศิลปคุปตะจากอินเดีย โบราณสถาน โบราณวัตถุที่พบในเมืองอู่ทอง เป็นศิลปกรรมสมัยทวารวดี เช่น เจดีย์เศียรพระพุทธรูปทองคำ พระพุทธรูปปางประทานธรรม ธรรมจักร ในขณะเดียวกันศิลปศรีวิชัยซึ่งนับถือพุทธศาสนาลัทธิมหายานได้เผยแพร่เข้ามา ได้พบพระโพธิสัตว์ อวโลกิเตศวร และพระโพธิสัตว์ปัทมปาณิ เป็นต้น เมืองอู่ทองได้หมดความสำคัญ และร้างไปในราว พุทธศตวรรษที่ 16 จึงรอดพ้นจากอิธิพลเขมรในราวพุทธศตวรรษที่ 16 (สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7) โดยปรากฎเมืองโบราณสุพรรณบุรีเจริญขึ้นมาแทนที่
ที่มา: จากเอกสาร สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 2 สุพรรณบุรี
อาณาจักรทวารวดี
คำว่า “ทวารวดี” ปรากฏในบันทึกการเดินทางของหลวงจีนว่า “โตโลโปตี”และเหรียญเงินโบราณที่พบที่จังหวัดนครปฐม สุพรรณบุรี และลพบุรี เป็นภาษาสันสกฤตว่า “ศรีทวารวดี ศวรปุณยะ” แปลว่า บุญของพระผู้เป็นเจ้าแห่งทวารวดี ศูนย์กลางของอาณาจักรทวารวดีอยู่บริเวณภาคกลางของไทยสันนิษฐานว่าอาจอยู่ที่เมืองนครปฐมโบราณ หรือเมืองอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี หรือเมืองลพบุรี เชื่อว่าเจริญ รุ่งเรืองในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 และเสื่อมลงราวพุทธศตวรรษที่ 16 อาจเกิดจากแม่น้ำเปลี่ยนทิศทางเดินทำให้ต้องมีการอพยพไปอยู่ที่อื่น และเมื่อเขมรแผ่อิทธิพลเข้ามาสู่ในดินแดนภาคกลางของไทย ชาวทวารวดีรับอิทธิพลอินเดียทั้งด้านศาสนา ภาษา และศิลปกรรม แล้วแผ่ขยายวัฒนธรรมไปทั่วดินแดนต่างๆ ของไทย ชาวทวารวดีส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาทและเชื่อกันว่าอาจเป็นชนชาติมอญ เพราะพบศิลาจารึกภาษามอญโบราณหลายหลักที่จังหวัดลพบุรี นครปฐม ลำพูน ซึ่งมีวัฒนธรรมแบบทวารวดีอยู่ด้วย
จากการดำเนินงานโบราณคดี พบว่า อิทธิพลทางวัฒนธรรมของอินเดียได้ผสมผสานกับวัฒนธรรมท้องถิ่น เกิดรูปแบบทางศิลปกรรมอักษรภาษาและศาสนาพุทธ ซึ่งเป็นศาสนาหลัก เป็นวัฒนธรรมแบบใหม่ที่รู้จักกันว่า "วัฒนธรรมทวาราวดี" ศูนย์กลางความเจริญของสมัยทวาราวดีอยู่ที่เมืองโบราณอู่ทอง ในบริเวณลุ่มน้ำจรเข้สามพัน ตั้งอยู่บริเวณเนินดินด้านตะวันออกของเทือกเขาพระ และเขาทำเทียม ด้านตะวันออกเฉียงเหนือ ตะวันออกและทิศใต้ เป็นที่ลุ่มตัวเมือง ได้รับน้ำหล่อเลี้ยงที่ไหลมาจากเทือกเขา คือ ลำห้วยลวก และลำน้ำจรเข้สามพัน ซึ่งไหลมาทางทิศใต้ โดยเมืองโบราณมีฐานะเป็นเมืองหลวง และมีเมืองลูกหลวง คือละโว้และนครชัยศรี สิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ ลูกปัด และเครื่องประดับที่ขุดพบที่เมืองโบราณอู่ทอง สะท้อนถึงความมั่งคั่งของเมืองท่าชายฝั่งอื่น ๆ เมืองโบราณอู่ทอง ยังคงติดต่อกับพ่อค้าต่าง ๆ จากอินเดีย ตะวันออกกลางและโรมัน ดังหลักฐานจีนที่กล่าวถึงเมืองหลินอี่ฟูนัน ตุนชุนจินหลิน ตันตัน และพันพัน ซึ่งเป็นเส้นทางเดียวกับที่นักเดินทางทางเรือและพ่อค้าใช้ติดต่อกับจีน
การขยายตัวทางการค้าของอินเดียซึ่งไม่สามารถซื้อหาทองคำได้จากแหล่งค้าเดิม ได้แก่ ไซบีเรีย โรมันทำให้อินเดียเพิ่มปริมาณการค้ากับ "สุวรรณภูมิ" ใช้เรือขนาดใหญ่ที่เรียกว่า เรือโรกันเดียขนถ่ายสินค้า ความเติบโตทางเศรษฐกิจช่วยทำให้เกิดความเข้มแข็งของอำนาจรัฐ มีหลักฐานหลายประการแสดงให้เห็นว่าอาณาจักรทวาราวดีมีกษัตริย์ เช่น เหรียญเงินที่มีจารึก "ศรีทวาราวดีศุวรปุณยะ" ซึ่งแปรว่า การบุญแห่งพระเจ้าศรีทวาราวดี รวมทั้งโบราณวัตถุที่เป็นเครื่องประกอบพิธีราชาภิเษกและจารึเป็นต้น การพบจารึกแผ่นทองแดงที่เมืองโบราณ สามารถยืนยันได้ว่าเมืองโบราณอู่ทองรับวิธีการเขียนอักษรของอินเดียมาปรับปรุงเป็นของตนเอง ทำให้แปลกเปลี่ยนไปจาก อักษรปัลลวะ นักภาษาศาสตร์ต้องกำหนดให้เรียกว่า "อักษรหลังปัลลวะ"
ในราวพุทธศรวรรษที่ 15 - 16 มีการเปลี่ยนแปลงของแนวชาวฝั่ง ซึ่งส่งผลกระทบถึงการคมนาคม และระบบสาธารณูปโภคของเมืองโบราณในสมัยทวาราวดีเป็นศูนย์กลางรัฐหรือเมืองหลวงของอู่ทองได้รับผลกระทบ พบว่า มีการเคลื่อนย้ายศูนย์กลางอำนาจไปบริเวณเมืองสุพรรณบุรี ปัจจุบันปรากฏร่องรอยของเมืองโบราณที่มีคูน้ำคันดินคร่อมแม่น้ำสุวรรณบุรี (แม่น้ำท่าจีน) จากหลักฐานที่ได้ในงานโบราณคดี พบว่าพุทธศตวรรษที่ 17-18 เมืองโบราณบริเวณจังหวัดสุพรรณบุรี ได้เป็นเมืองหลวงที่สำคัญของบรรดาเมืองโบราณในซีกตะวันตกของลุ่มน้ำเจ้าพระยา และติดต่อค้าขายกับจีนอย่างใกล้ชิด มีความสำพันธ์กันในระดับราชวงศ์ รู้จักในชื่อ เสียน หรือ สยาม แต่เอกสารฝ่ายไทยเรียกว่า "สุพรรณภูมิ" รัฐสุพรรณภูมิ เป็นรัฐที่รุ่งเรืองจากการค้า นอกเหนือจากการเป็นศูนย์กลางการค้าขายนานาชนิดแล้ว รัฐสุพรรณภูมิ ยังผลิตเครื่องปั้นดินเผาส่งออกเป็นแห่งแรกของประเทศไทย ในพุทธศตวรรษที่ 18 โดยแหล่งที่พบอยู่ไกลถึงสิงคโปร์ ญี่ปุ่น และเกาหลีเหนือ และจากความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับราชสำนักจีน ราชวงศ์สุพรรณภูมิ ได้ตราแต่งตั้งเป็น อ๋อง จากพระเจ้าจักรพรรดิของจีน ซึ่งต่อมาได้เป็นธรรมเนียมปฏิบัติในราชสำนักกรุงศรีอยุธยา รัฐสุพรรณภูมิ และ ราชวงศ์อู่ทองแห่งละโว้ ได้ร่วมกันสถาปนากรุงศรีอยุธยาในปี 1893 ได้ย้ายฐานจากบริเวณแม่น้ำสุพรรณบุรี สู่เกาะเมืองกรุงศรีอยุธยา ใช้ความรู้ความสามารถในความเป็นรัฐพาณิชย์ที่มีประสิทธิภาพอันยาวนาน นับแต่ปลายยุคสมัยก่อนประวัติศาสตร์สู่ยุคฟูนัน ทวาราวดี และสุพรรณภูมิ ทำให้กรุงศรีอยุธยาเป็นรัฐนานาชาติ ศูนย์กลางการซื้อขายที่ใหญ่ที่สุดถึง 417 ปี จากข้อมูลและหลักฐานที่แสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ทำให้เราทราบถึงรากเหง้าแห่งความเป็นคนไทย ชาติไทย จากถิ่นกำเนิดที่เมืองโบราณอู่ทอง และพัฒนาสู่สุวรรณภูมิ (สุพรรณบุรี) กรุงศรีอยุธยา และปัจจุบันรัตนโกสินทร์ ได้บ่งบอกถึงความสูงส่งทางวัฒนธรรมชีวิต ความรู้ความสามารถของบุรุษเป็นอย่างยิ่ง
สมัยรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการเปลี่ยนแปลงระบบบริหารราชการแผ่นดิน แบ่งหัวเมืองต่าง ๆ เป็นจังหวัด อำเภอ และตำบล อำเภออู่ทองจึงเกิดขึ้นมื่อ พ.ศ. 2448 ให้ชื่อว่า "อำเภอจรเข้สามพัน" แบ่งการปกครองออกเป็น 10 ตำบล ต่อมาทางราชการได้พิจารณาเห็นว่าอำเภอจรเข้สามพัน อยู่ในเขตเมืองโบราณที่เรียกว่า "เมืองท้าวอู่ทอง" เพื่อให้สอดคล้องกับประวัติศาสตร์จึงย้ายที่ว่าการอำเภอจากหมู่บ้านจรเข้สามพัน มาตั้ง ณ บริเวณเมืองโบราณ เมืองท้าวอู่ทอง และให้เปลี่ยนชื่ออำเภอจาก "อำเภอจรเข้สามพัน" เป็น "อำเภออู่ทอง" เมื่อปี พ.ศ. 2483 สืบมาจนถึงปัจจุบัน
ที่มา: http://uthong.suphanburi.doae.go.th/uthong1.htm
บ้านลาวโซ่ง ลานแสดงศิลปะพื้นบ้านภายในบริเวณพิพิธภัณฑ์ ปัจจุบัน ลาวโซ่งได้ผสมกลมกลืนไปกับชาวพื้นเมืองแล้ว แต่ยังคงไว้ถึงประเพณี ความเชื่อ การทำมาหากิน การแต่งกายโดยภายในบริเวณพิพิธภัณสถานแห่งชาติอู่ทอง ได้จัดสร้างบ้านลาวโซ่งขึ้น แสดงเครื่องมือ เครื่องใช้ประจำวันอยู่ครบครัน ชุมชนไทยโซ่ง (ไทยทรงดำ) บ้านดอนมะเกลือ ตำบลสระยายโสม เป็นชุมชนไทยโซ่งกลุ่มใหญ่ เป็นแหล่งผ้าทอพื้นเมือง มีทั้งผ้าถุง ผ้าซิ่น ผ้าทอฮีสีดำ และในเขตอำเภออู่ทอง ซึ่งเป็น อู่อารยธรรมสุวรรณภูมิ และยังมีชาติพันธุ์ 5 ชนเผ่า ซึ่งได้แก่ ไทยพื้นถิ่น ไทยจีน ไทยเวียง ไทยทรงดำ (ลาวโซ่ง) และลาวครั่ง
|
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น