วัดเขาทำเทียม ตั้งอยู่ที่ ตำบลอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นวัดเก่าแก่มาแต่โบราณ สันนิษฐานว่าจะเป็นวัดแห่งแรกในประเทศไทย หลังจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพานได้ 300 ปี พระโมคคัลลีบุตรติสสะเถระ ได้ทำการสังคยนา ครั้งที่ 3 โดยมีพระเจ้าอโศกมหาราช เป็นองค์อุปถัมภ์ ณ เมืองปาฏลีบุตร และได้ส่งสมณฑูตพระอรหันต์ปัญจวคคีย์ ได้แก่ พระสณะ พระมุนียเถระ พระฌานีเถระ พระภูริยเถระและพระอุตตรเถระ ออกเผยแพร่พระพุทธศาสนายังเมืองสุวรรณภูมิ และได้จารึกภาษาสันสกฤตโบราณไว้ว่า ปุษยคิริ หรือ ปุษยคีรี แปลว่า ภูเขา ดอกไม้ เนื่องจากบนภูเขามีดอกไม้ที่สวยงาม ประกอบด้วย ดอกสุพรรณิกา (สมอฝ้าย) ดอกงิ้วป่าสามสี
โบราณสถานคอกช้างดินเมืองอู่ทอง ในวนอุทยานแห่งชาติพุม่วง ต.จระเข้สามพัน อ.อู่ทอง
ภาพชุดคูเมืองอู่ทอง http://www.sujitwongthes.com/wp-content/uploads/2010/10/คูเมืองอู่ทอง.doc
ภาพชุดวัดเขาทำเทียม http://www.sujitwongthes.com/wp-content/uploads/2010/10/วัดเขาทำเทียม.doc
ปุษยคิริ : เขาศักดิ์สิทธิ์ ของเมืองอู่ทอง จ. สุพรรณบุรีรุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล
อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
( อ่านฉบับเต็มเรื่องนี้ได้ในหมวดหมู่สุวรรณภูมิ www.sujitwongthes.com)
ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ได้จัดแสดงจารึก 1 ชิ้น ขนาดกว้าง 18 เซนติเมตร ยาว 33.3 เซนติเมตร และหนา 7 เซนติเมตร อักษรหลังปัลลวะ หรือบางท่านเรียกว่าแบบปัลลวะกลาย อายุราวพุทธศตวรรษที่ 13-14
จารึกแผ่นนี้มีผู้อ่าน(ปริวรรต)แล้ว คือ “ปุษฺยคิริ” แปลว่า ปุษยคิริ หรือเขาปุษยะ
ปุษยคิริ เท่ากับ ปุษปคิริ สัมพันธ์กับชมพูทวีป
จากพจนานุกรมภาษาสันสกฤต ได้ให้ความหมายของศัพท์คำ “ปุษฺย” ว่าหมายถึง ดอกไม้ มีความเกี่ยวข้องกับพระจันทร์และเป็นชื่อยุคสมัยหนึ่งในกลียุค
นอกจากนี้ยังปรากฏศัพท์คำว่า “ปุษฺปคิริ” หมายถึงเขาแห่งดอกไม้, เขาในเทว ปกรณัมอันเป็นสวนของพระวรุณ
ถ้าคำว่า “ปุษฺย” มีความหมายว่า ดอกไม้ ก็ชวนให้คิดต่อไปได้ว่า “ปุษฺยคิริ” มีความหมายเท่ากับ “ปุษฺปคิริ” จะได้หรือไม่
จากหลักฐานที่ค้นพบปรากฏว่าในชมพูทวีป มีภูเขาชื่อ ปุษปคิรี เป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ อยู่ 2 แห่งคือ
1.จากหลักฐานจารึกที่ขุดค้นพบที่โบราณสถานหมายเลข 2 บนเขานาหราฬ ฬโพฑุ ที่นาคารชุนโกณฑะ อานธรประเทศ จารึกเป็นภาษาปรากฤต เชื่อว่าจารึกหลักนี้มีความเกี่ยวข้องกับราชวงศ์อิกษวากุ ดังนั้นจึงกำหนดอายุอยู่ในราวกลางพุทธศตวรรษที่ 8-กลางพุทธศตวรรษที่ 9
ในด้านทิศตะวันตก หลักที่ 3 บรรทัดที่ 7 ปรากฏชื่อที่เป็นทางการของเขาลูกนี้ว่า “ปุผคิรี[ยํ].” ซึ่งศาสตราจารย์โวเกิล ได้อธิบายว่าศัพท์คำนี้เป็นภาษาปรากฤตตรงกับคำว่า “ปุษฺปคิริ” ในภาษาสันสกฤต
2. ในบันทึกของหลวงจีนเหี้ยนจัง ได้กล่าวว่าที่แคว้นอุฑร หรือรัฐโอริสสาในภาคตะวันออกของประเทศอินเดียปัจจุบัน มีสังฆารามที่สำคัญชื่อว่า “ปุษปคีรี” ที่ พระเจ้าอโศกมหาราชทรงสถาปนา ซึ่งจากการหลักฐานที่ขุดพบเมื่อไม่นานมานี้ได้พบชิ้นส่วนจารึกที่ปรากฏพระนามพระเจ้าอโศก จึงทำให้สนับสนุนบันทึกของหลวงจีน เหี้ยนจัง
ดังนั้นชื่อเขาปุษปคิริในชมพูทวีปก็คงจะเป็นมงคลนามที่มักจะใช้ไปตั้งเป็นภูมิสถาน และคงจะส่งอิทธิพลให้ที่เมืองอู่ทอง ดังจะพบเห็นได้โดยทั่วไปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เพียงแต่ “ปุษยคิริ” ที่อู่ทองจะสัมพันธ์กับที่นาคารชุนโกณฑะหรือที่โอริสสา ยากที่จะตอบได้
จารึกปุษฺยคิริ พบที่เมืองอู่ทอง
ในทะเบียนโบราณวัตถุของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง เล่มที่ 1 หน้า 18 ระบุว่า จารึกแผ่นนี้เลขประจำวัตถุ 132/2502 พบที่เมืองอู่ทอง จ. สุพรรณบุรี เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2502
อีกทั้งในวิทยานิพนธ์เรื่อง จารึกทวารวดี : การศึกษาเชิงอักขร วิทยา เมื่อปี พ.ศ. 2515 ก็กล่าวพบที่เมืองอู่ทอง และจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง
หากแต่ข้อมูลในหนังสือ “จารึกในประเทศไทย เล่มที่ 1” พิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2528 กลับระบุว่ามาจากวัดโขลงสุวรรณภูมิทวาราม จ. ราชบุรี อีกทั้งยังระบุว่าไม่ทราบว่าพบเมื่อไหร่ และไม่ทราบเก็บรักษาอยู่ ณ ที่ใด ซึ่งขัดแย้งกับทะเบียนของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง และวิทยานิพนธ์เรื่อง จารึกทวารวดี : การศึกษาเชิงอักขรวิทยา อันเป็นการสะท้อนให้เห็นว่ามีการคลาดเคลื่อนบางประการ อีกทั้งที่เมืองคูบัว จ. ราชบุรี ก็ไม่ปรากฏวัดโขลงสุวรรณภูมิทวาราม
แต่ถ้าสมมติว่าทะเบียนจารึกจดวัดโขลงสุวรรณภูมิทวารามเพี้ยนจากวัดโขลงสุวรรณคิรีจริง จากในรายงานการขุดแต่งวัดโขลงสุวรรณคีรีของ ว่าที่ร้อยตรีสมศักดิ์ รัตนกุล เมื่อ ปี พ.ศ. 2504 ได้กล่าวถึงโบราณวัตถุที่ขุดค้นพบจากโบราณสถานวัดโขลงสุวรรณคีรี แต่ไม่มีการกล่าวถึงจารึกจากแผ่นนี้แต่ประการใด ซึ่งเป็นเรื่องที่ชวนให้ฉงนว่าถ้าสมมติว่าพบจริง จารึกแผ่นใหญ่ขนาดนี้เหตุใดจึงไม่ระบุ
ดังนั้นผู้เขียนคิดว่าจารึกแผ่นนี้น่าที่จะพบอยู่ที่เมืองโบราณอู่ทอง
อนึ่งเมื่อพิจารณาจากลักษณะจารึกที่ไม่เป็นทรงเรขาคณิต ซึ่งไม่เคยพบจารึกในลักษณะเช่นนี้มาก่อน นอกเสียจากจารึกชิ้นชำรุดแตกหัก และพื้นผิวของจารึกที่ค่อนข้างมันวาว จึงทำให้เชื่อได้ว่าแต่เดิมน่าที่จะเป็นจารึกในผนังถ้ำ หรือผนังเพิงผามาก่อน จึงทำให้ได้รับน้ำที่มีสารละลายของหินปูนและต่อมาได้มีการสกัดจากผนัง
ปุษยคิรี คือแนวเขาทำเทียม
เนื่องจากจารึกปุษยคิริพบที่เมืองอู่ทอง จึงทำให้เชื่อได้ว่าแต่เดิมในราวพุทธศตวรรษที่ 13-14 ที่เมืองโบราณอู่ทอง จะต้องมีภูเขาที่ชื่อว่า ปุษยคิรี ซึ่งผู้เขียนเสนอว่าควรที่จะเป็นแนวเขาหลังเมืองอู่ทอง แนวที่ปัจจุบันเรียกว่า “เขาทำเทียม” ทั้งนี้เพราะ
1. เป็นแนวเขาขนาดใหญ่ที่ใกล้เมืองอู่ทองมากที่สุด
2. เมื่อช่วงปี พ.ศ. 2507-2508 กรมศิลปากร และศาสตราจารย์ฌอง บวสเซอลีเยร์ แห่งมหาวิทยาลัยปารีส ได้เข้ามาทำการขุดแต่งโบราณสถานในเมืองอู่ทอง การขุดแต่งครั้งนั้นได้ทำการขุดแต่งโบราณสถานหมายเลขที่ 9, 10, 11 และ 12 ที่ตั้งอยู่ที่เชิงเขาพระ ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มโบราณสถานขนาดใหญ่นอกเมืองอู่ทอง
จากการขุดแต่งในครั้งนั้นโดยเฉพาะโบราณสถานหมายเลขที่ 11 ได้ค้นพบโบราณวัตถุชิ้นสำคัญ คือพระพุทธรูปสำริดแสดงปางวิตรรกมุทรา จำนวน 4 องค์ และ ธรรมจักรพร้อมทั้งเสารองรับธรรมจักร ซึ่งโบราณวัตถุทั้งหมดนี้ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง
อีกทั้งภายในวัดเขาพระศรีสรรเพชญ์ซึ่งตั้งอยู่ที่เชิงเขาพระซึ่งเป็นแนวเดียวกันกับเขาทำเทียม ได้พบพระพุทธรูปแสดงปางปฐมเทศนา ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง และเทวรูปพระวิษณุขนาดใหญ่ ลักษณะของผ้านุ่ง ก็คล้ายกับเทวรูปพระวิษณุในศาลหลักเมืองสุพรรณบุรีและศาลหลักเมืองอู่ทอง ซึ่งเป็นเทวรูปในสมัยทวารวดี แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายตรงที่ว่าพระวิษณุที่วัดพระศรีสรรเพชญ์ องค์นี้ส่วนพระเศียรชำรุดได้มีการซ่อมขึ้นใหม่ในสมัยหลัง
จากการที่พบพระวิษณุองค์นี้ ทำให้เราพอที่คาดเดาว่าบริเวณเขาพระนี้ในอดีต ก็น่าที่จะมีศาสนสถานที่เกี่ยวเนื่องกับพระวิษณุด้วยเช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ที่ปลายแนวเขาทำเทียม มีแหล่งโบราณคดีที่สำคัญ คือแหล่งโบราณคดีคอกช้างดิน ซึ่งนักโบราณคดีได้ขุดค้นพบมุขลึงค์ อันเป็นของพบน้อยมากในวัฒนธรรมทวารวดี กำหนดอายุอยู่ในราวกลางพุทธศตวรรษที่ 12-กลางพุทธศตวรรษที่ 13 และ เหรียญเงินมีจารึกอักษรปัลลวะ อ่านได้ว่า “ศฺรีทฺวารวติศฺวรปุณยะ”
อีกทั้งเมื่อไม่นานมานี้ก็มีการสำรวจพบแหล่งโบราณคดีบริเวณพุหางนาคบนเขารางกะปิดต่อเนื่องกับเขาทำเทียม ซึ่งแม้ว่าในปัจจุบัน(พ.ศ. 2555) ยังไม่สามารถหาข้อสรุปเกี่ยวกับยุคสมัยของแหล่งโบราณคดีนี้ก็ตาม
เขาทำเทียมมีความสำคัญ เพราะ
จากหลักฐานทั้งหมดที่ผู้เขียนได้กล่าวไปแล้วนั้น ก็ย่อมที่จะชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของเขาทำเทียมในอดีตด้วยเช่นเดียวกัน ส่วนสาเหตุที่แนวเขาทำเทียมมีความสำคัญเพราะ
ประการที่ 1 เนื่องจากในอดีตสมัยที่ยังไม่มีเข็มทิศใช้ การเดินทางย่อมเป็นลำบาก เพราะจะเดินทางไปทิศทางใดเพื่อไม่ให้หลง ดังนั้นภูเขาที่เด่นสง่าก็ได้ถูกนำมาใช้เพื่อให้เป็นหลักหมาย (Landmark) เพื่อให้เดินทาง
ถ้าเราจินตนาการว่าถ้าท่านเป็นคนในอดีตแล้วต้องเดินทางมาเมืองอู่ทอง ท่านจะรู้ได้อย่างไรเมืองอู่ทองอยู่ทางไหน จะไปอย่างไร ถ้าเราไม่สังเกตจากเขาทำเทียมที่ตั้งอยู่หลังเมืองอู่ทอง
ประการที่ 2 ความเชื่อของผู้คนในอดีต ผีที่ศักดิ์สิทธิ์หรือผีผู้ใหญ่จะต้องอยู่ที่ภูเขา เช่น พระขพุงผี ในศิลาจารึกหลักที่ 1 ก็อยู่ที่เขาหลวงเมืองสุโขทัย ผีนัต หรือผีอันศักดิ์สิทธิ์ของพม่าก็อยู่ที่เขาปอปป้า รวมถึงการบูชายันต์ที่เขาลิงเจียโปโป หรือลิงค บรรพตบริเวณวัดภูในปัจจุบัน
ดังนั้นแนวเขาทำเทียมก็น่าที่จะเป็นเขาศักดิ์สิทธิ์ของเมืองอู่ทอง และเนื่องจากโบราณวัตถุบางชิ้นที่พบใกล้แนวเขาทำเทียม เช่น ธรรมจักรและเสารองรับธรรมจักร และพระพุทธรูปแสดงปางปฐมเทศนา มีอายุที่อยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12-13 จึงอาจจะเป็นแนวเขาศักดิ์สิทธิ์มาตั้งแต่ยุดก่อนหน้านั้นขึ้นไป
แนวเขาทำเทียม สมัยหลังทวารวดี
จากหลักฐานที่หลงเหลือถึงปัจจุบัน แม้ว่าหลังปี พ.ศ. 1500 โดยประมาณ เมืองอู่ทองจะลดบทบาทความสำคัญลงไป แต่เขาทำเทียมก็น่าที่จะดำรงเป็นเขาศักดิ์สิทธิ์อยู่
ทั้งนี้เพราะบริเวณวัดเขาทำเทียม ปรากฏเจดีย์ทรงระฆังที่มีรูปแบบเหมือนกับเจดีย์รายในวัดพระศรีสรรเพชญ์พระนครศรีอยุธยา จึงพอที่จะกำหนดอายุเจดีย์องค์นี้ว่าอยู่ในช่วงครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 21
และในบริเวณเพิงผาที่ใกล้กันนั้นยังมีการก่อผนังลูกกรงลูกมะหวดเป็นห้อง รวมถึงพระพุทธรูปกลุ่มหนึ่งที่พบบนเขาลูกนี้ ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง ซึ่งอายุของพระพุทธรูปเหล่านี้สามารถกำหนดอยู่ในราวรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง
อนึ่งเราไม่สามารถที่ตอบได้ว่ากลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณเมืองอู่ทอง ได้ลืมเลือนว่าแนวเขาทำเทียม คือปุษยคิริไปเมื่อใด
หินตั้ง หินใหญ่ ภูเขาศักดิ์สิทธิ์ที่เมืองอู่ทอง
สุวรรณภูมิสโมสร/ศุกร์ที่ 24 สิงหาคม 2555
ประภัสสร์ ชูวิเชียร
ไม่นานมานี้มีรายงานการค้นพบโบราณสถานบนแนวเทือกเขาหลังเมืองอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี คือเขาพระ เขารางกะบิด เขารางกะเบิด และพุหางนาค มีลักษณะที่ใช้แผ่นหินขนาดเล็กเรียงซ้อนกันเป็นแท่นสูง กระจายตัวตามยอดเขาสูงต่ำ ซึ่งกลุ่มโบราณสถานดังกล่าวน่าจะสร้างขึ้นเนื่องในความเชื่อเรื่องภูเขาศักดิ์สิทธิ์และหินตั้งซึ่งอาจมีมาตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์ ที่สำคัญได้พบบางแห่งที่เป็นสถูปเจดีย์เนื่องในพุทธศาสนาเพราะมีร่องรอยการก่อด้วยอิฐมีแกลบข้าวปนแบบอิฐสมัยทวารวดีด้วย
ผู้คนทั่วทั้งโลกสมัยดึกดำบรรพ์นานมาแล้วนับถือภูเขาเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เพราะเป็นแหล่งต้นน้ำ อาหาร ทรัพยากร ยารักษาโรค และยังมีป่าไม้ที่อยู่อาศัยของสิงสาราสัตว์ที่ลึกลับอันตราย และมีหลายกรณีที่ภูมิประเทศแปลกตาเกิดเป็นเพิงผาหินรูปร่างต่างๆ ล้วนแต่ชวนให้น่าพิศวง
ความเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของภูเขานี้ เป็นส่วนหนึ่งของการนับถือหินก้อนใหญ่ (Megalith) ซึ่งมนุษย์ในอดีตถือว่าเป็นสิ่งควรบูชา หินใหญ่นี้หากเกิดตามธรรมชาติมักได้รับการนับถือว่าเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรม มีมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์จนถึงแม้มนุษย์มีศาสนาขึ้นยังถือว่าหินใหญ่บางประเภทเป็นตัวแทนของเทพเจ้า เช่นความเชื่อเรื่องสวยัมภูวลึงค์ (Svayambhuvalinga) หรือก้อนหินธรรมชาติขนาดใหญ่ที่มีลักษณะคล้ายอวัยวะเพศชาย เป็นที่นับถือของชาวฮินดูว่าคือรูปของพระศิวะ ซึ่งในกรณีของภูเขาลูกโดดที่มีรูปร่างเช่นนี้ก็ถูกใช้เป็นสวยัมภูวลึงค์ได้เช่นกัน มีตัวอย่างชัดเจนคือลิงคบรรพต หรือภูเก้า อันเป็นสถานที่ตั้งของปราสาทวัดภูในตอนใต้ของลาว
มนุษย์ไม่ได้หยุดความเชื่อไว้เฉพาะภูเขาหรือก้อนหินใหญ่ แต่ยังได้นำเอาก้อนหินที่ตัดหรือแตกเป็นแท่งเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยมาจัดวาง ทั้งในรูปของการปักตั้งหรือเรียงซ้อนกันจนเป็นรูปร่างผิดจากธรรมชาติ เพื่อให้ใช้เป็นจุดหมายตา หรือบ่งบอกเขตกระทำพิธีกรรมบางอย่าง เช่น แหล่งฝังศพ และมีที่ซับซ้อนขึ้นเช่นการสลักให้เป็นรูปคล้ายภาชนะ เช่นไหหินที่พบในทุ่งราบบนภูเขาทางตอนเหนือของลาว ซึ่งลักษณะแบบนี้นักวิชาการเรียกรวมกันว่า วัฒนธรรมหินตั้ง
ร่องรอยของวัฒนธรรมหินตั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตภูเขาสูงทางตอนเหนือของไทยและลาว เช่นหินตั้งแถบ จ.พะเยา อันน่าจะสัมพันธ์กับทางเชียงขวาง หัวพันและซำเหนือของลาว และเกี่ยวเนื่องลงมาสู่กลุ่มเพิงหิน-หินตั้งที่ภูพระบาท อุดรธานี ซึ่งมีร่องรอยของการนับถือภูเขาศักดิ์สิทธิ์และสร้างหินตั้งไว้ใช้ในพิธีกรรมตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์จนกลายมาเป็นใบเสมาในวัฒนธรรมทวารวดีราว พ.ศ.1300-1400 แล้วแพร่กระจายไปทั่วทั้งภาคอีสาน ก่อนที่จะกลายลงมาเป็นใบเสมาที่ปักอยู่รอบอุโบสถเมื่อเข้าสู่สมัยสุโขทัย-อยุธยาในลุ่มน้ำเจ้าพระยาภาคกลาง
หินตั้งที่เทือกเขาหลังเมืองอู่ทองจึงน่าจะเป็นหลักฐานความต่อเนื่องในความเชื่อเรื่องภูเขาศักดิ์สิทธิ์-หินตั้งที่สืบต่อจากช่วงก่อนประวัติศาสตร์ลงมาถึงสมัยที่ผู้คนรับศาสนาจากอินเดียแล้วเช่นเดียวกับที่พบในพื้นที่อื่นๆดังที่กล่าวมา แสดงว่าคตินี้เป็นที่ยอมรับของผู้คนผ่านกาลเวลายาวนานและกว้างขวาง
ประภัสสร์ ชูวิเชียร
ไม่นานมานี้มีรายงานการค้นพบโบราณสถานบนแนวเทือกเขาหลังเมืองอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี คือเขาพระ เขารางกะบิด เขารางกะเบิด และพุหางนาค มีลักษณะที่ใช้แผ่นหินขนาดเล็กเรียงซ้อนกันเป็นแท่นสูง กระจายตัวตามยอดเขาสูงต่ำ ซึ่งกลุ่มโบราณสถานดังกล่าวน่าจะสร้างขึ้นเนื่องในความเชื่อเรื่องภูเขาศักดิ์สิทธิ์และหินตั้งซึ่งอาจมีมาตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์ ที่สำคัญได้พบบางแห่งที่เป็นสถูปเจดีย์เนื่องในพุทธศาสนาเพราะมีร่องรอยการก่อด้วยอิฐมีแกลบข้าวปนแบบอิฐสมัยทวารวดีด้วย
ผู้คนทั่วทั้งโลกสมัยดึกดำบรรพ์นานมาแล้วนับถือภูเขาเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เพราะเป็นแหล่งต้นน้ำ อาหาร ทรัพยากร ยารักษาโรค และยังมีป่าไม้ที่อยู่อาศัยของสิงสาราสัตว์ที่ลึกลับอันตราย และมีหลายกรณีที่ภูมิประเทศแปลกตาเกิดเป็นเพิงผาหินรูปร่างต่างๆ ล้วนแต่ชวนให้น่าพิศวง
ความเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของภูเขานี้ เป็นส่วนหนึ่งของการนับถือหินก้อนใหญ่ (Megalith) ซึ่งมนุษย์ในอดีตถือว่าเป็นสิ่งควรบูชา หินใหญ่นี้หากเกิดตามธรรมชาติมักได้รับการนับถือว่าเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรม มีมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์จนถึงแม้มนุษย์มีศาสนาขึ้นยังถือว่าหินใหญ่บางประเภทเป็นตัวแทนของเทพเจ้า เช่นความเชื่อเรื่องสวยัมภูวลึงค์ (Svayambhuvalinga) หรือก้อนหินธรรมชาติขนาดใหญ่ที่มีลักษณะคล้ายอวัยวะเพศชาย เป็นที่นับถือของชาวฮินดูว่าคือรูปของพระศิวะ ซึ่งในกรณีของภูเขาลูกโดดที่มีรูปร่างเช่นนี้ก็ถูกใช้เป็นสวยัมภูวลึงค์ได้เช่นกัน มีตัวอย่างชัดเจนคือลิงคบรรพต หรือภูเก้า อันเป็นสถานที่ตั้งของปราสาทวัดภูในตอนใต้ของลาว
มนุษย์ไม่ได้หยุดความเชื่อไว้เฉพาะภูเขาหรือก้อนหินใหญ่ แต่ยังได้นำเอาก้อนหินที่ตัดหรือแตกเป็นแท่งเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยมาจัดวาง ทั้งในรูปของการปักตั้งหรือเรียงซ้อนกันจนเป็นรูปร่างผิดจากธรรมชาติ เพื่อให้ใช้เป็นจุดหมายตา หรือบ่งบอกเขตกระทำพิธีกรรมบางอย่าง เช่น แหล่งฝังศพ และมีที่ซับซ้อนขึ้นเช่นการสลักให้เป็นรูปคล้ายภาชนะ เช่นไหหินที่พบในทุ่งราบบนภูเขาทางตอนเหนือของลาว ซึ่งลักษณะแบบนี้นักวิชาการเรียกรวมกันว่า วัฒนธรรมหินตั้ง
ร่องรอยของวัฒนธรรมหินตั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตภูเขาสูงทางตอนเหนือของไทยและลาว เช่นหินตั้งแถบ จ.พะเยา อันน่าจะสัมพันธ์กับทางเชียงขวาง หัวพันและซำเหนือของลาว และเกี่ยวเนื่องลงมาสู่กลุ่มเพิงหิน-หินตั้งที่ภูพระบาท อุดรธานี ซึ่งมีร่องรอยของการนับถือภูเขาศักดิ์สิทธิ์และสร้างหินตั้งไว้ใช้ในพิธีกรรมตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์จนกลายมาเป็นใบเสมาในวัฒนธรรมทวารวดีราว พ.ศ.1300-1400 แล้วแพร่กระจายไปทั่วทั้งภาคอีสาน ก่อนที่จะกลายลงมาเป็นใบเสมาที่ปักอยู่รอบอุโบสถเมื่อเข้าสู่สมัยสุโขทัย-อยุธยาในลุ่มน้ำเจ้าพระยาภาคกลาง
หินตั้งที่เทือกเขาหลังเมืองอู่ทองจึงน่าจะเป็นหลักฐานความต่อเนื่องในความเชื่อเรื่องภูเขาศักดิ์สิทธิ์-หินตั้งที่สืบต่อจากช่วงก่อนประวัติศาสตร์ลงมาถึงสมัยที่ผู้คนรับศาสนาจากอินเดียแล้วเช่นเดียวกับที่พบในพื้นที่อื่นๆดังที่กล่าวมา แสดงว่าคตินี้เป็นที่ยอมรับของผู้คนผ่านกาลเวลายาวนานและกว้างขวาง
เกรียงไกร ก่อเกียรติตระกูล ข่าว 081-4359473
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น