วันพุธที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

หอพระประวัติสมเด็จพระญาณสังวร " สมเด็จพระสังฆราช " พระองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์


          หอพระประวัติสมเด็จพระญาณสังวร ตั้งอยู่บริเวณวัดเทวสังฆารามพระอารามหลวง (วัดเหนือ) โดยจังหวัดกาญจนบุรี คณะสงฆ์และทุกภาคส่วนร่วมกันจัดสร้างขึ้นเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ซึ่งมีชาติภูมิเป็นชาวจังหวัดกาญจนบุรี ในโอกาสที่ทรงพระชันษาครบ 8 รอบ 96 ปี และเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ทางพระพุทธศาสนา การศึกษาอบรม การปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนา รวมทั้งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางพระพุทธศาสนาและที่พักผ่อนของประชาชน เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ.2553 แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ.2556 ใช้งบประมาณในการดำเนินงาน 126,799,298.20 บาท ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากโครงการไทยเข้มแข็ง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น วัดบวรนิเวศราชวรวิหารและเงินบริจาคของประชาชน






           อาคารหอพระประวัติสมเด็จพระญาณสังวร ตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 38 ไร่ ลักษณะเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 4 ชั้น รูปทรงไทย ยอดเจดีย์พร้อมศาลาราย 4 ทิศ มีซุ้มประตูเข้า - ออก 4 ด้าน ยอดด้านบนสุดมีลักษณะเป็นรูปฉัตรประจำพระองค์ ภายในอาคารมีการจัดนิทรรศการ ชั้นที่ 1 นิทรรศการแผ่นดินทองผู้ครองธรรม สังฆราชามหาสมณะแห่งกรุงรัตนโกสินทร์และรอยธรรมนำทางย่างสู่ความเจริญพร้อม ชั้นที่ 2 นิทรรศการพระศาสนกิจ พระกรณียกิจทางศาสนาและสมศักดิ์แห่งอัครสงฆ์ ชั้นที่ 3 นิทรรศการธรรมปฏิปทา วิปัสสนากรรมฐาน พระรูปหล่อพระอุปัชฌาย์และขั้นที่ 4 เป็นจุดชมทัศนียภาพ









หอพระประวัติสมเด็จพระญาณสังวร เปิดให้นักท่องเที่ยวและประชาชนเข้าชมทุกวันระหว่างเวลา 09.00 - 16.00 น. (กรณีเลยเวลาปิดแต่มีประชาชนเข้าชมจะขยายเวลาปิดตามความเหมาะสม) สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 08-7156-9428, 09-8916-1994, 08-9912-9440




         
       พระประวัติสมเด็จพระญาณสังวร " สมเด็จพระสังฆราช " พระองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์




         พลิกปูมพระประวัติ "สมเด็จพระสังฆราช" พระองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จากเด็กกำพร้า จ.กาญจนบุรี บรรพชาเป็นสามเณรเพื่อแก้บน สู่ใต้ร่มกาสาวพัสตร์ ก่อนอุทิศทั้งชีวิตเพื่อศาสนา  

ขณะทรงพระเยาว์
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก มีพระนามเดิมว่า เจริญ คชวัตร ประสูติเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ.2456 เป็นบุตรคนโตของนายน้อย คชวัตร และนางกิมน้อย คชวัตร ชาวกาญจนบุรี พระองค์มีน้องชาย 2 คน ได้แก่ นายจำเนียร คชวัตรและนายสมุทร คชวัตร บิดาของพระองค์ป่วยเป็นโรคเนื้องอกและเสียชีวิตไปตั้งแต่พระองค์ยังเล็ก
หลังจากนั้น พระองค์ได้มาอยู่ในความดูแลของป้าเฮงซึ่งเป็นพี่สาวของนางกิมน้อยที่ได้ขอพระองค์มาเลี้ยงดู เมื่อพระชนมายุได้ 8 ขวบ ทรงเข้าเรียนที่โรงเรียนประชาบาล วัดเทวสังฆาราม จนจบชั้นประถม 5 (เทียบเท่าชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และ2 ในปัจจุบัน)เมื่อ พ.ศ. 2468 ในขณะที่มีพระชนมายุ 12 พรรษา หลังจากนั้น ทรงไม่รู้ว่าจะเรียนอะไรต่อและไม่รู้ว่าจะเรียนที่ไหน
ทรงเล่าว่า "เมื่อเยาว์วัยทรงมีพระอัธยาศัยค่อนข้างขลาด กลัวต่อคนแปลกหน้า และค่อนข้างจะเป็นคนติดป้าที่อยู่ ใกล้ชิดกันมาแต่ทรงพระเยาว์โดยไม่เคยแยกจากกันเลย" จึงทำให้พระองค์ไม่กล้าตัดสินพระทัยไปเรียนต่อที่อื่น
บรรพชาและอุปสมบท
เมื่อพระองค์ยังทรงพระเยาว์นั้นทรงเจ็บป่วยออดแอดอยู่เสมอ โดยมีอยู่คราวหนึ่งที่ทรงป่วยหนักจนญาติ ๆ ต่างพากันคิดว่าคงไม่รอดแล้วและได้บนไว้ว่า ถ้าหายป่วยจะให้บวชเพื่อแก้บน แต่เมื่อหายป่วยแล้ว พระองค์ก็ยังไม่ได้บวช จนกระทั่งเรียนจบชั้นประถม 5 แล้วพระองค์จึงได้ทรงบรรพชาเป็นสามเณรเพื่อแก้บนในปี พ.ศ. 2469 ขณะมีพระชนมายุได้ 14 พรรษา ที่วัดเทวสังฆาราม โดยมีพระเทพมงคลรังษี (ดี พุทธฺโชติ) เจ้าอาวาสวัดเทวสังฆารามเป็นพระอุปัชฌาย์และพระครูนิวิฐสมาจาร (เหรียญ สุวณฺณโชติ) เจ้าอาวาสสวัดศรีอุปลารามเป็นพระอาจารย์ให้สรณะและศีล ภายหลังบรรพชาแล้วได้จำพรรษาอยู่ที่วัดเทวสังฆาราม 1 พรรษาและได้มาศึกษาพระธรรมวินัยที่วัดเสน่หา จังหวัดนครปฐม
หลังจากนั้น พระเทพมงคลรังษี (ดี พุทธฺโชติ) พระอุปัชฌาย์ได้พาพระองค์ไปยังวัดบวรนิเวศวิหาร และนำพระองค์ขึ้นเฝ้าถวายตัวต่อสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร (ต่อมา คือ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์) เพื่ออยู่ศึกษาพระปริยัติธรรมในสำนักวัดบวรนิเวศ วิหาร พระองค์ทรงได้รับประทานนามฉายาจากสมเด็จพระสังฆราชว่า “สุวฑฺฒโน” ซึ่งมีความหมายว่า “ผู้เจริญดี”
กระทั่งชันษาครบอุปสมบท จึงได้เดินทางกลับไปอุปสมบทที่วัดเทวสังฆารามเมื่อพ.ศ. 2476 ภายหลังจึงได้เดินทางเข้ามาจำพรรษา ณ วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร เพื่อทรงศึกษาพระธรรมวินัยต่อไป และที่วัดบวรนิเวศวิหารนี่เองพระองค์ท่านได้เข้าพิธีอุปสมบทซ้ำเป็นธรรมยุติกนิกาย โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์เป็นพระอุปัชฌาย์
ด้านการศึกษา
ทรงสอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค ในปีพ.ศ. 2484
การศึกษาพระปริยัติธรรม
พ.ศ. 2472 สอบได้นักธรรมชั้นตรี
พ.ศ. 2473 สอบได้นักธรรมชั้นโท และเปรียญธรรม 3 ประโยค
พ.ศ. 2475 สอบได้นักธรรมชั้นเอก และเปรียญธรรม 4 ประโยค
พ.ศ. 2476 อุปสมบทที่วัดเทวสังฆาราม จำพรรษาที่วัดนี้ 1 พรรษา แล้วกลับมาวัดบวรนิเวศวิหาร อุปสมบทซ้ำเป็นธรรมยุต และสอบไล่เปรียญธรรม 5 ประโยคพ.ศ. 2477, พ.ศ. 2478, พ.ศ. 2481 และ พ.ศ. 2484 สอบได้เปรียญธรรม 6, 7, 8 และ 9 ประโยคตามลำดับ
การดำรงตำแหน่งพระอภิบาล
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงฉายภาพหมู่ร่วมกับคณะพระภิกษุสงฆ์วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อคราวทรงผนวช ท่านได้ทรงอุทิศตนเพื่องาน พระศาสนาโดยไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย ทรงรับเป็นองค์แสดงธรรมยังสถานที่ต่าง ๆ หลายแห่ง
นอกจากนั้นยังได้ทรงนิพนธ์ ผลงานทางวิชาการ เอกสาร และตำราด้านพุทธศาสนา ซึ่งล้วนแต่ทรงคุณค่าอย่างยิ่งไว้มากมาย พ.ศ. 2499 สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงเลือกให้เป็นพระอภิบาล (พระพี่เลี้ยง) ของพระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ในระหว่างที่ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ และเสด็จประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ระหว่าง วันที่ 22 ตุลาคม - 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499
ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช
ในช่วงที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชมีศาสนกิจที่จะต้องเสด็จไปต่างประเทศ พระองค์จะมีพระบัญชาแต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช โดยเมื่อครั้งพระองค์เสด็จประเทศจีนอย่างเป็นทางการ ตามคำกราบทูลอาราธนาของทบวงศาสนกิจประเทศจีน และเสด็จปฏิบัติศาสนกิจที่ประเทศเนปาล พระองค์มีพระบัญชาแต่งตั้งให้ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น ชุตินฺธโร)เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช
นอกจากนี้ เมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จปฏิบัติศาสนกิจที่ประเทศญี่ปุ่นและประเทศอินเดีย พระองค์มีพระบัญชาแต่งตั้ง สมเด็จพระพุทธปาพจนบดี (ทองเจือ จินฺตากโร) เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช ช่วงปี พ.ศ. 2547 หลังจากที่ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ประชวร และประทับรักษาพระองค์ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เข้าร่วมงานพระศาสนาไม่สะดวก มหาเถรสมาคม ซึ่งเป็นองค์กรปกครองคณะสงฆ์ ได้แต่งตั้งให้ สมเด็จพระพุฒาจารย์(เกี่ยว อุปเสโณ) เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชได้ทรงมีพระบัญชาว่า “ทราบและเห็นชอบ” เมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2547 ต่อมา การแต่งตั้งนั้นได้สิ้นสุดลงเพราะครบระยะเวลาที่กำหนด มหาเถรสมาคมจึงได้แต่งตั้ง คณะผู้
ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เพื่อบริหารกิจการคณะสงฆ์แทนสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช โดยประกอบด้วยพระราชาคณะ รวม 7 รูป จากพระอาราม 7 วัด โดยมีสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ในฐานะมีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ทำหน้าที่ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช
พระกรณียกิจ
พระกรณียกิจของพระองค์ตลอดห้วงระยะเวลาที่ผ่านมามีอยู่เป็นอเนกอนันต์ พอจะสรุปได้ดังนี้
ด้านการพระศาสนาในต่างประเทศ
พระองค์ได้เป็นกำลังสำคัญในการดำเนินการมาโดยลำดับ ดังนี้ พ.ศ. 2509 ในฐานะประธานกรรมการอำนวยการฝึกอบรมพระธรรมทูตในต่างประเทศ ได้เสด็จไปเป็นประธานสงฆ์ ในพิธีเปิดวัดพุทธประทีป ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และดูกิจการพระธรรมทูตในประเทศอังกฤษและอิตาลี พ.ศ. 2511 เสด็จไปดูการพระศาสนา วัฒนธรรม และการศึกษาในประเทศอินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และฟิลิปปินส์ อันเป็นผลให้ต่อมาได้มีการวางแผนร่วมกับชาวพุทธอินโดนีเซีย ในอันที่จะฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในประเทศนั้น และได้ส่งพระธรรมทูตชุดแรกไปยังอินโดนีเซีย เมื่อปี พ.ศ. 2512 ได้ส่งพระภิกษุจากวัดบวรนิเวศ ออกไปปฏิบัติศาสนกิจที่ประเทศออสเตรเลีย เมื่อปี พ.ศ. 2516, และตั้ง
สำนักสงฆ์ในปี พ.ศ. 2518 พ.ศ. 2514 เสด็จไปดูการพระศาสนา และการศึกษาในประเทศเนปาล และอินเดีย ปากีสถาน ตะวันออก (บังคลาเทศ) ทำให้เกิดงานฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในเนปาล ในขั้นแรก ได้ให้ทุนภิกษุ สามเณรเนปาลมาศึกษาพระพุทธศาสนาในไทย ที่วัดบวรนิเวศ ฯ พ.ศ. 2520 เสด็จไปบรรพชาชาวอินโดนีเซีย จำนวน 43 คน ที่เมืองสมารัง ตามคำอาราธนาของคณะสงฆ์เถรวาทอินโดนีเซีย พ.ศ. 2528 ทรงเป็นประธานคณะสงฆ์ ไปประกอบพิธีผูกพัทธสีมาอุโบสถ วัดจาการ์ต้าธรรมจักรชัย ณ ประเทศอินโดนีเซีย นับเป็น
การผูกพันธสีมาอุโบสถวัดพระพุทธศาสนาเถรวาท เป็นครั้งแรกของประเทศอินโดนีเซีย และในปีเดียวกันนี้ ได้เสด็จไปเป็นประธานบรรพชากุลบุตรศากย แห่งเนปาล จำนวน 73 คน ณ กรุงกาฐมาณฑุ ประเทศเนปาล พ.ศ. 2536 เสด็จไปเจริญศาสนาสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีน เป็นครั้งแรก ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน ตามคำกราบทูลอาราธนาของรัฐบาลจีน พ.ศ. 2538 เสด็จไปเป็นประธาน วางศิลาฤกษ์วัดไทย ณ ลุมพินี ประเทศเนปาล ซึ่งรัฐบาลไทยจัดสร้างถวายเป็นพุทธบูชา และเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี
ด้านสาธารณูปการ 
ได้ทรงบูรณะซ่อมสร้างเสนาสนะ และถาวรวัตถุอันเป็นสาธารณประโยชน์เป็นจำนวนมาก กล่าวคือ ปูชนียสถาน ได้แก่ มณฑปประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง พระเจดีย์ วัดบวรนิเวศวิหาร พระบรมธาตุ เจดีย์ศรีนครินทรมหาสันติคีรีดอยแม่สลอง พระอาราม ได้แก่ วัดสันติคีรี ดอยแม่สลอง เชียงราย วัดรัชดาภิเศก อำเภอบ่อพลอย กาญจนบุรี วัดล้านนาสังวราราม อำเภอจอมทองเชียงใหม่ วัดพุมุด อำเภอไทรโยค กาญจนบุรี วัดญาณสังวราราม อำเภอบางละมุง ชลบุรี นอกจากนั้นยังทรงอุปถัมภ์วัดไทยในต่างประเทศอีกหลายแห่งคือ วัดพุทธรังสี นครซิดนีย์ ออสเตรเลีย วัดจาการ์ตาธรรมจักรชัย กรุงจาการ์ตาอินโดนีเซีย วัดนครมณฑปศรีกีรติวิหาร เมืองกิรติปูร เนปาล โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนสมเด็จพระญาณสังวร ยโสธร โรงเรียนสมเด็จพระปิยมหาราชรมณียเขต กาญจนบุรี โรงพยาบาล ได้แก่ การสร้างตึกวชิรญาณวงศ์ ตึกวชิรญาณสามัคคีพยาบาล และตึก ภปร. โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์, โรงพยาบาลสมเด็จพระปิยมหาราชรมณียเขต จังหวัดกาญจนบุรี, โรงพยาบาลวัดญาณสังวราราม จังหวัดชลบุรี, และโรงพยาบาลสกลมหาสังฆปรินายก เพื่อถวายเป็นอนุสรณ์แด่สมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ทุกพระองค์ รวม 19 แห่ง ได้เริ่มก่อสร้างไปแล้วหลายแห่ง
พระภารกิจ 
พ.ศ. 2484 เป็นสมาชิกสังฆสภาโดยตำแหน่ง เป็นกรรมการสังคายนาพระธรรมวินัย และเป็นผู้อำนวยการศึกษาสำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหาร
พ.ศ. 2489 เป็นพระวินัยธรชั้นอุทธรณ์ และเป็นกรรมการสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
พ.ศ. 2493 เป็นกรรมการเถรสมาคม คณะธรรมยุต ประเภทชั่วคราว
พ.ศ. 2494 เป็นกรรมการอำนวยการมหามงกุฎราชวิทยาลัย และเป็นกรรมการแผนกตำราของมหามกุฏราชวิทยาลัย
พ.ศ. 2496 เป็นกรรมการตรวจชำระ คัมภีร์ฎีกา
พ.ศ. 2497 เป็นกรรมการเถรสมาคมคณะธรรมยุตประเภทถาวร สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก
พ.ศ. 2499 เป็นพระอภิบาล (พระพี่เลี้ยง) ของพระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ระหว่างที่ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ และเสด็จประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ที่พระธรรมวราภรณ์ และรักษาการวินัยธรชั้นฎีกา
พ.ศ. 2501 เป็นกรรมการคณะธรรมยุติ และเป็นกรรมการมูลนิธิส่งเสริมกิจการพระศาสนา และมนุษยธรรม (ก.ศ.ม.)
พ.ศ. 2503 เป็นสังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การปกครองสั่งการองค์การปกครองฝ่ายธรรมยุติ
พ.ศ. 2504 เป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร เป็นผู้อำนวยการมหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นประธานกรรมการสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นผู้รักษาการณ์เจ้าคณะธรรมยุตภาคทุกภาค และเป็นพระอุปัชฌาย์
พ.ศ. 2506 เป็นกรรมการเถรสมาคม ซึ่งเป็นกรรมการชุดแรก ตาม พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505
พ.ศ. 2515 เป็นเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการ และได้รับโปรดเกล้า ฯ สถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ "สมเด็จพระญาณสังวร" สมเด็จพระราชาคณะในพระราชทินนามนี้ มีขึ้นในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ เป็นฝ่ายวิปัสสนาธุระพระอาจารย์สุก วัดท่าหอย พระนครศรีอยุธยา ได้รับพระราชทานสมศักดิ์นี้เป็นองค์แรก และต่อมาก็มิได้พระราชทานสมณศักดิ์นี้แก่พระเถระรูปใดอีกเลย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2363 ถึงปี พ.ศ. 2515 เป็นเวลาถึง 152 ปี
พ.ศ. 2517 เป็นประธานกรรมการคณะธรรมยุต
พ.ศ. 2528 เป็นรองประธานกรรมการสังคีติการสงฆ์ ในการสังคายนาพระธรรมวินัย ตรวจชำระพระไตรปิฎก และเป็นสังฆปาโมกข์ปาลิวิโสธกะพระวินัยปิฎก เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
พ.ศ. 2531 รักษาการเจ้าคณะใหญ่ธรรมยุต เป็นนายกกรรมการมหามกุฏราชวิทยาลัย และเป็นนายกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
ลำดับสมณศักดิ์
พ.ศ. 2490 ได้รับพระราชทานตั้งสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ พระโศภณคณาภรณ์ และเป็นกรรมการมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
พ.ศ. 2495 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราช ในพระราชทินนามเดิม
พ.ศ. 2498 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ในพระราชทินนามเดิม
พ.ศ. 2499 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ที่ พระธรรมวราภรณ์
พ.ศ. 2504 ได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ เจ้าคณะรอง ชั้นหิรัญบัฏ ที่ พระสาสนโสภณ
พ.ศ. 2515 ได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะ ชั้นสุพรรณบัฏ ที่ สมเด็จพระญาณสังวร
พ.ศ. 2532 ได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์ขึ้นเป็น "สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก" ในพระราชทินนามเดิม มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระญาณสังวร บรมนริศรธรรมนีติภิบาล อริยวงศาคตญาณวิมล สกลมหาสังฆปริณายก ตรีปิฎกปริยัตติธาดา วิสุทธจริยาธิสมบัติ สุวัฑฒนภิธานสงฆวิสุต ปาวจนุตตมพิสาร สุขุมธรรมวิธานธำรง วชิรญาณวงศวิวัฒ พุทธบริษัทคารวสถาน วิจิตรปฏิภาณพัฒนคุณ วิบุลสีลาจารวัตรสุนทร บวรธรรมบพิตร สรรพคณิศรมหาปธานาธิบดี คามวาสีอรัณยวาสี สมเด็จพระสังฆราช
พระนิพนธ์
ตราสัญลักษณ์ งานฉลองพระชันษา ๙๖ ปี ทรงนิพนธ์เรื่องต่าง ๆ ไว้เป็นอันมาก ทั้งที่เป็นตำรา พระธรรมเทศนา และทั่วไป พอประมวลได้ดังนี้ ประเภทตำรา ทรงเรียบเรียงวากยสัมพันธ์ ภาค 1-2 สำหรับใช้เป็นหนังสือประกอบ การศึกษาของนักเรียนบาลี และทรงอำนวยการจัดทำ ปทานุกรม บาลี ไทย อังกฤษ สันสกฤต ฉบับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทรบุรีนฤนาถ ประเภทพระธรรมเทศนา มีอยู่เป็นจำนวนมาก เท่าที่พิมพ์เป็นเล่มแล้วเช่น ปัญจคุณ 5 กัณฑ์, ทศพลญาณ 10 กัณฑ์, มงคลเทศนา, โอวาทปาฏิโมกข์ 3 กัณฑ์, สังฆคุณ9 กัณฑ์ เป็นต้น ประเภทงานแปลเป็นภาษาต่างประเทศ ทรงริเริ่มและดำเนินการให้แปลตำราทางพุทธศาสนา จากภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อใช้ในการศึกษาพระพุทธศาสนา เช่น นวโกวาท, วินัยมุข, พุทธประวัติ, ภิกขุปาติโมกข์, อุปสมบทวิธี, และทำวัตรสวดมนต์ เป็นต้น
ประเภททั่วไป มีอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น การนับถือพระพุทธศาสนา, หลักพระพุทธศาสนา, พระพุทธเจ้าของเรานั้นท่านล้ำเลิศ, 45 พรรษาพระพุทธเจ้า, พระพุทธเจ้าสั่งสอนอะไร (ไทย-อังกฤษ) , วิธีปฏิบัติตนให้ถูกต้องทางธรรมะ, พระพุทธศาสนากับสังคมไทย, เรื่องกรรม ศีล (ไทย-อังกฤษ) , แนวปฏิบัติในสติปัฎฐาน, อาหุเณยโย, อวิชชา, สันโดษ, หลักธรรมสำหรับการปฏิบัติอบรมจิต, การบริหารจิตสำหรับผู้ใหญ่, บัณฑิตกับโลกธรรม, แนวความเชื่อ, บวชดี, บุพการี-กตัญญูกตเวที, คำกลอนนิราศสังขาร, และตำนานวัดบวรนิเวศ เป็นต้น
ข้อมูลจากจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ระบุว่า สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) (3 ตุลาคม พ.ศ. 2456—ปัจจุบัน) เป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ทรงดำรงตำแหน่งเมื่อ พ.ศ. 2532 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ปัจจุบันทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชที่มีพระชันษามากกว่าสมเด็จพระสังฆราชทุกพระองค์ในอดีต
ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์แรกของไทยที่มีพระชันษา 100 ปี
 ล่าสุดเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2556 โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ออกแถลงการณ์ เรื่องพระอาการประชวรสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ขณะประทับ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ฉบับที่ 9 
คณะแพทย์ผู้ถวายการรักษา รายงานว่า สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก มีพระอาการทรุดลง ได้สิ้นพระชนม์แล้ว เมื่อเวลา 19.30 นาฬิกา สาเหตุเนื่องจากการติดเชื้อในกระแสพระโลหิต!! 

สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) - วิกิพีเดีย


     พิกัด
N 14.02515
E 99.52565

สถานที่ตั้ง
1/19 ถนนเจ้าขุนเณร ตำบลบ้านเหนือ อำเภอเมืองกาญจนบุรี

       ขอบคุณ อ.สุภา คชวัตร  จนท.อาสา ประจำหอพระประวัติ  สมเด็จพระญาณสังวร " สมเด็จพระสังฆราช " 



ศูนย์ข่าวท้องถิ่นออนไลน์  รายงาน
เรวัติ  น้อยวิจิตร  Hub Admin rewat.noyvijit@hotmail.com  081-9107445

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น